การออกกำลังกายนะหรือ?.ผมไม่มีเวลา

เรื่องการพูดชักชวนให้ชาวบ้านชาวช่องออกจากโต๊ะทำงานหรือลุกจากหน้าจอโทรทัศน์มาออกกำลังกาย

ผมน่ะท้อเสียแล้วล่ะครับ ให้พูดชักชวนอะไรก็ได้ทั้งนั้นแหละแต่เรื่องชวนไปออกกำลังกายนี่พูดยากครับ

เพราะผู้ที่เรามุ่งหวังจะให้เขาได้ประโยชน์เค้าก็ฟังดีอยู่นะครับเห็นคล้อยตามไปหมดไม่ขัดแย้งเลย

เพียงแต่ลงท้ายด้วยการสนทนาว่า “ก็ดีหรอกครับ?แต่ผมไม่มีเวลา” เก้าในสิบรายจะตอบเช่นนี้

หลังๆมาผู้เขียนจึงไม่ใคร่ชวนใครแล้วเพราะชวนแล้วไม่สำเร็จ แต่มาวันนี้ผู้เขียนกลับมาเขียน

เรื่องที่น่าเบื่อหน่ายนี้ คือเรื่องชวนคนอื่นไปออกกำลังกายอีกครั้งด้วยเห็นว่า เขียนตรงนี้ทีเดียวจะได้ผู้อ่าน

มากๆเท่ากับเป็นการประหยัดพูดไปได้หลายร้อยครั้ง อาจคุ้มค่าอยู่จะได้ไม่ต้องไปอธิบายกันหลายคน

ดีไหมครับ ผู้เขียนคาดหวังผู้อ่านอยู่สองกลุ่ม คือกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังและมักอ้างว่าไม่มีเวลานี้กับกลุ่ม

ผู้ที่ออกกำลังกายอยู่แล้วและอาจไปชักชวนให้ผู้อื่นมาออกกำลังได้เตียมตัวตั้งรับกับคำว่า

“ผมไม่มีเวลา” เพราะคุณจะต้องได้เจอคำแก้ตัวนี้แน่ๆรับรองเลยครับ บทความนี้จึงไม่ใช่เริ่มต้นจากการ

ชักชวนให้ผู้คนต่างๆไปออกกำลังกันอย่างธรรมดาแต่กลับเริ่มตรงที่ไปชวนแล้วและได้รับคำตอบว่า

ไม่มีเวลาเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งถ้าผู้อ่านเป็นคนที่ตอบแบบนี้ยิ่งสมควรที่ต้องอ่านอย่างยิ่งเลยครับ

เราต้องเริ่มทำความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า

1. ในทุกวันนี้ พวกเราทั้งหลายต่างต้องการความแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจมากกว่ายุคสมัยใด

ที่ผ่านมา เพราะโลกยุคโลกาภิวัฒน์มีความเสื่อมโทรมจากมลพิษที่มากกว่าแต่ก่อน ทั้งมลพิษที่เข้าทางปาก,

เข้าทางหู,แม้แต่มลพิษทางใจ ซึ่งโดยธรรมชาติ ร่างกายมักจะปรับความสมดุลย์ขับถ่ายออกทางอายตนะต่างๆ

อยู่แล้ว แต่นับวันมลพิษเหล่านี้มีมากมายยิ่งขึ้นไปอีก การที่เราจะมีพฤติกรรมที่จะช่วยให้ธรรมชาติสะสาง

มลพิษจากร่างกายเราได้เร็วได้มากเท่าไร ย่อมจะเป็นความฉลาดใช่ไหมครับ นอกจากมลพิษแล้ว

ยังมีภาวะความเครียดจากการงาน มีสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันมาก ร่างกายไม่เคยได้รับภาวะ

หนักใดๆอีก ส่งผลให้ร่างกายใช้แรงที่น้อยลงในกิจวัตรในการงานอาชีพ สำหรับบางท่านก็ขาดความสมดุลย์

ในการใช้ร่างกายกับสมอง (Sedentarian) หรือแม้แต่ภาวะสูงอายุซึ่งบางท่านก็อาจพบทุกปัญหานี้เลย

ภาวะเช่นนี้ไม่เคยพบว่า ยุคใดไม่เคยประสบปัญหาเหล่านี้มากเท่ายุคปัจจุบันเลย

2. ยิ่งคุณไม่มีเวลาอย่างที่ว่า ยิ่งต้องหาเวลาออกกำลังแทรกลงไปให้ได้ เพราะยิ่งคุณ Busy มากเท่าไร

จะเท่ากับคุณถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของผู้ป่วยมากเท่านั้น ทั้งโรคมะเร็ง,โรคหัวใจ,โรคเบาหวาน,

โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด,โรคเกี่ยวกับความดัน,โรคภูมิแพ้,โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โอ้ย..เยอะแยะ

จารนัยไม่หมด ซึ่งโรคเหล่านี้ต้องแก้ไขป้องกันด้วยการออกกำลังทั้งนั้นเลย

3. ข้อนี้สำคัญที่สุด ผู้เขียนขอวิจารณ์แรงๆว่า ผู้ที่บอกไม่มีเวลานั้น แสดงว่าเขาไม่เห็นความสำคัญของสิ่งนั้น

หรือเห็นสิ่งอื่นมีความสำคัญกว่า เช่น เมื่อคุณปฎิเสธตัวแทนขายสินค้าที่เข้าพบคุณด้วยข้ออ้างว่า

ไม่มีเวลานั้น ย่อมแสดงว่าคุณไม่ให้ค่ากับสินค้าตัวนั้น รู้สึกเสียเวลาที่จะมานั่งฟังตัวแทนมานั่งสาธยาย

สรรพคุณ อีกสักตัวอย่าง นักธุรกิจผู้มีภาระยุ่งมากขนาดสัปดาห์มี 7 วันยังไม่รู้สึกเพียงพอแต่ท่าน

ก็ปลีกเวลา 1 วันเต็ม ตัดภารกิจให้ผู้อื่นทำแทนหมดเพื่ออุทิศวันนั้นให้กับครอบครัว ให้กับลูกเพราะท่าน

ตระหนักว่า ท่านต้องการความรักเล็งเห็นความสำคัญของครอบครัวที่ต้องอบอุ่น นอกจากความสำเร็จทาง

ด้านการงานการเงิน คนเราถ้าเห็นความสำคัญของอะไรก็ปลีกเวลาได้เสมอแหละครับ ยิ่งเห็นความสำคัญ

มากก็ยิ่งมีเวลาให้มากเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อคุณบอกว่า “ไม่มีเวลา” ย่อมแปลว่า คุณเห็นอย่างอื่นสำคัญกว่าการ

มีสุขภาพที่ดี พูดง่ายๆป่วยไม่ว่า ขอให้รวยไว้ก่อน คุณกำลังหลงไปว่า ความมีสุขภาพสมบูรณ์ย่อมซื้อได้

เหมือนกับสิ่งต่างๆในสังคมนี้

4. เมื่อเราตัดสินใจไม่ซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกาย เช่น ไม่ซื้อรองเท้าวิ่ง ไม่ซื้อจักรยานหรือลู่วิ่ง นั่นเท่ากับเรา

เพิ่มความเสี่ยงในรายจ่ายให้กับแพทย์และกระบวนการบำบัด ซึ่งนั้นมีรายจ่ายแฝงเพิ่มอยู่ในโอกาส

ที่สูญเสียไปกับการที่จำต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาล แทนที่จะไปทำงานหารายได้ในมูลค่าที่แพงกว่า

หลายร้อยหลายพันเท่า มันไม่ค่อยฉลาดเลยนะครับ ยังไม่พอเพียงเท่านี้ เรายังแสวงหาโรคเข้ามาซ้ำเติม

ด้วยเหล้า,บุหรี่ และการสำส่อนเข้าไปอีก เลิกได้ละก็เยี่ยมเลย

5. ควรเข้าใจว่าสุขภาพที่สมบูรณ์ เป็นเรื่องที่ต้องทำแต่เนิ่นๆ เป็นเรื่องป้องกัน ไม่ใช่การรักษา

การที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมจากการที่ไม่เคยออกกำลังชนิดใดมาเลยมาเป็นผู้ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ

จำต้องเปลี่ยนแปลงกิจวัตรพอสมควรจากที่เคยทำบางสิ่งได้อาจจะไม่ได้ทำอย่างนั้นอีกในเวลาเดิม

ผู้เขียนไม่แนะนำให้พิจารณาตารางกิจวัตรประจำวัน ว่าจะใส่ครึ่งชั่วโมงของการออกกำลังกายลงไป

ในเวลาใด หากแต่ให้ดูกิจวัตรประจำสัปดาห์แทนซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้น่าจะพอหาที่แทรกได้อยู่

เพราะเราต้องการเพียงครึ่งชั่วโมงที่ต่อเนื่องกัน สัปดาห์ละอย่างน้อย 4 ครั้งและมีความสม่ำเสมอด้วยเท่านั้น

จะว่าไม่ยากก็ไม่ยากนะครับ

ลองพิจารณาให้การออกกำลังกาย เป็นกิจกรรมแรกๆของชีวิตที่คุณต้องทำโดยให้มองว่าเป็นสิ่งสำคัญ

ที่จะขาดเสียไม่ได้ เช่น ชีวิตครอบครัว,ลูก,การงาน การอาชีพหรือการปฎิบัติธรรมเป็นสิ่งแรก

ส่วนความบันเทิง,มิตรภาพ,และการเข้าสังคมเป็นสิ่งรอง ต่อไปเราต้องกำหนดจัดลำดับการออกกำลังกาย

ให้อยู่ในบัญชีของสิ่งแรกที่เพิ่มเข้าไปด้วย เพราะตราบใดที่เราจัดการออกกำลังกายไว้ในบัญชีที่สอง

หรือที่สาม เราก็คงไม่ได้ออกกำลังกายเสียที โดยพูดว่าไม่มีเวลาอยู่เหมือนเดิม คำแนะนำสุดท้ายก็คือ

หลักการ 80-20 กล่าวคือ พยายามกินอาหารที่ดี 80% ซึ่งอาจมีอาหารที่เลวปะปนเข้าสัก 20% พยายาม

ประพฤติแต่สิ่งที่ดี 80% ซึ่งอาจมีพฤติกรรมที่เลวตามความเคยชินหลงทำไปสัก 20%

พยายามปลีกเวลา 80% ไปออกกำลังกาย โดยเผื่อไว้สำหรับการขาดซ้อม 20% หรือไม่ได้ไปออกกำลัง

ตามกิจวัตรที่ตั้งใจด้วยความจำเป็นจริงๆ ผู้เขียนพบว่า มันลำบากที่จะปรับตัวในสัปดาห์แรกๆ

เท่านั้นแหละครับยิ่งพอได้มีกิจวัตรออกกำลังผ่านไปได้สักเดือนหนึ่งแล้ว โอกาสที่จะติดนิสัยความเคยชิน

ใหม่ๆจะเริ่มเป็นไปโดยอัตโนมัติ โดยจะทำไปอย่างปราศจากความพยายามเลยและเมื่อสักระยะหนึ่ง

พอเห็นผลว่าร่างกายเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว คุณจะบอกว่า “รู้งี้ ทำมาเสียตั้งนานแล้ว”

แล้วจะกลายเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการชักชวนให้คนอื่นไปออกกำลังกายด้วยเหมือนผู้เขียนทำอยู่ไงครับ…

โดย กฤตย์ ทองคง

1
0
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณได้นะครับx
X