ชีพจร กับนักวิ่ง

การจับหรือตรวจสอบการเต้นของชีพจร
ควรที่จะทำทุกเช้าเมื่อตื่นนอน
ตื่นปุ๊ป จับปั๊ป ( ชีพจรนะครับ )
ยังไม่ต้องลุกไปทำกิจกรรมใดๆ
ชีพจรจึงจะค่อนข้างแม่น

อัตราการเต้นของชีพจรเป็นหลักที่นิยมใช้
สำหรับกีฬาที่ต้องใช้ความอดทนเป็นพิเศษ

ความจริงแล้วก็ใช้ได้ทุกกิจกรรมของการออกกำลังกาย

แต่ที่เน้นสำหรับนักวิ่งเพราะมีผลโดยตรงกับนักวิ่งระยะไกล
เพราะเราต้องใช้ระบบการไหลเวียนเลือด
เป็นหลักสำหรับการพัฒนาระบบต่างๆ

ชีพจรเป็นจังหวะของการยืดหยุ่นของหลอดเลือด
ซึ่งจะเป็นจังหวะตามการบีบและคลายตัวของหัวใจ
ในการส่งเลือดซึ่งมีสารอาหารและออกซิเจน
ไปหล่อเลี้ยงตามอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย

รวมถึงการรับของเสียจากการเผาผลาญสารอาหาร
และการทำงานของระบบภายในร่างกาย
เพื่อนำไปผ่านกระบวนการฟอกใหม่หรือขจัดทิ้งไป

เพราะฉะนั้นเราต้องบันทึกพื้นฐาน
การเต้นของหัวใจหรือชีพจรของเราและบันทึกไว้
ตั้งแต่การเริ่มออกกำลังกายครั้งแรก

เพราะจะสามารถบ่งบอกให้ทราบถึง
การพัฒนาการหรือความผิดปกติของสภาพร่างกายได้หลายอย่าง

ในส่วนของนักวิ่งเราสามารถนำมาประเมิน
ความสมบูรณ์ของตัวนักวิ่งเอง
และที่สำคัญที่สุดก็คือนำมาเป็นหลัก
ในการพิจารณาปรับเพิ่มหรือลดแผนการฝึกซ้อมได้

การเต้นของชีพจรควรเต้นสม่ำเสมอ
อาจจะมีการเพิ่มหรือลดลงบ้าง
แต่ก็ต้องเป็นไปตามเหตุและผลจากสภาวะการซ้อม
กิจวัตรประจำวันที่มีการเปลี่ยนแปลง
หรือจากความสมบูรณ์ทางกายที่เพิ่มขึ้นหรือความผิดปกติ
เนื่องมาจากการจัดแผนการซ้อมที่ผิดพลาด
การไหลเวียนของเลือดมีปัญหา

หลักที่นิยมใช้กันอยู่ปัจจุบันนี้ก็คือ
ไม่ควรมากกว่าหรือน้อยกว่า 5 ครั้งต่อนาทีในแต่ละวัน

ผมดีใจมากที่มีนักวิ่งสนใจเรื่องนี้
เท่ากับว่าความพยายามของผม
ที่สื่อเรื่องนี้ออกมาในระยะ 4-5ปีที่ผ่านมาไม่สูญเปล่า

การเต้นของชีพจรในคนปกติ
จะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับเพศ อายุ
การปฏิบัติภารกิจประจำวัน อาหาร การพักผ่อน
และสภาวะของอารมณ์

ผู้ชายก็จะอยู่ที่ 60 – 80 ครั้งต่อนาที
ผู้หญิงก็จะอยู่ที่ 70 – 90ครั้งต่อนาที
เด็กก็อาจจะสูงกว่าเล็กน้อย

ผมหมายถึงคนทั่วๆไปนะครับ
แต่ถ้าเป็นนักวิ่งจะต้องต่ำกว่า
ถ้าไม่มีอะไรที่ผิดปกติ
และก็จะลดต่ำลงจนถึงระดับหนึ่ง
ตามความสมบูรณ์ของร่างกาย

ของผมเคยต่ำที่สุด34 ครั้งต่อนาที
มีเหตุผลทางวิชาการที่ค่อนข้างต้องทำความเข้าใจ
เอาเป็นว่านักวิ่งที่ผ่านการซ้อม
มีการพัฒนาที่ดีตามลำดับ
การส่งเลือดออกจากหัวใจในแต่ละครั้ง
จะมีปริมาณที่มากกว่าคนปกติ

ยิ่งซ้อมดีมากขึ้น
ก็จะมีปริมาณส่งออกที่มากขึ้นตามไปด้วย

แต่ก็มีความจำกัดเมื่อถึงขีดความสามารถสูงสุด
ปริมาณที่ส่งออกมาทำให้สารอาหารที่จำเป็น
ถูกส่งไปให้อวัยวะต่างในร่างกายได้อย่างเพียงพอ
ต่อการทำงานที่เพิ่มขึ้น

จึงทำให้จำนวนครั้งของการส่งเลือดออกจากหัวใจลดลง
นั้นก็เป็นผลให้ชีพจรลดลงนั้นเอง
แต่การส่งเลือดออกจากหัวใจก็จะมีจำนวนครั้งที่เพิ่มขึ้น
เมื่อมีการเพิ่มความหนักของงานที่เพิ่มขึ้น
หรือมีการเปลี่ยนแปลงในด้านชีวเคมีในร่างกายเช่น
ตื่นเต้น ตกใจ ดีใจ
หรือเมื่อร่างกายมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารอาหารที่เพิ่มขึ้น

การที่นักวิ่งมีอัตราการเต้นของชีพจรต่ำลง
เนื่องมาจากกล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้น
เลือดที่ถูกส่งออกมาจึงมีมากขึ้น
จึงทำให้จำนวนครั้งการส่งเลือดออกมาลดลง
ทั้งในขณะพักและเวลาวิ่ง

ความแข็งแรงและสมบูรณ์ที่เพิ่มขึ้น
จะมีผลต่อการเพิ่มความสามารถ
ในการใช้ออกซิเจนได้มากขึ้นจากคนปกติ

ดังนั้น ค่าความห่างระหว่างการเต้นของชีพจรระดับปกติขณะพัก
ไปถึงการออกกำลังกายหรือการวิ่ง
จนถึงระดับความสามารถสูงสุดของนักกีฬา
จะมีระยะห่างมากกว่าคนทั่วไป นั้นคือ
เหนื่อยช้ากว่า ทนเหนื่อยได้นานกว่า ฟื้นสภาพได้เร็วกว่า

วิธการวัดชีพจร

วัดตอนเช้าที่เขียนไปแล้วนะครับข้างบน
วัดที่สะดวกที่สุดก็น่าจะเป็นจุดชีพจรที่ข้อมือ
จุดจะอยู่ต่ำกว่าข้อพับของข้อมือประมาณ 1 – 1.5 นิ้วโดยประมาณจากข้อมือ

ใช้ช่วงปลายนิ้วชี้กับนิ้วกลางแตะที่จุดดังกล่าว
ไม่ควรใช้นิ้วหัวแม่มือนะครับ
เพราะมีจุดชีพจรอยู่เดี๋ยวจะสับสน

ตุ๊บแรกให้นับเป็นศูนย์
แรกๆที่หัดทำ ควรวัดให้เต็ม 1 นาที
ถ้าชำนาญแล้ว ก็อาจจะวัดแค่ 10 วินาที แล้วคูณด้วยหก
ประโยชน์ที่ได้ ได้แน่นอนครับ
เป็นค่าการประเมินความสมบูรณ์ของร่างกายได้

ซึ่งจำนวนการเต้นจะบ่งบอกให้ทราบถึง
การซ้อมที่ปฏิบัติในแผนการซ้อมนั้น
ทำให้นักวิ่งมีความสมบูรณ์เพิ่มขึ้นหรือลดลง

ถ้าดีขึ้น
ชีพจรก็จะค่อยๆลดลงและจะลดลงจนถึงระดับหนึ่งก็จะคงที่
นั้นก็หมายถึงวิธีการซ้อมที่วางไว้ให้ผลต่อนักวิ่งคนนั้นสูงสุดแล้ว

จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงวิธีการฝึกใหม่
ถ้าต้องการเพิ่มความสามารถให้ขึ้นไปอีก

แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสูงขึ้นหรือลดลงอย่างมาก
ก็จะเป็นเรื่องที่ผิดปกติ ต้องทบทวนและวิเคราะห์ทันที

ในการวิ่งระยะไกลเราจะใช้การเต้นของชีพจร
เป็นตัวกำหนดความหนัก เบา ของการซ้อมเช่น

ถ้าเป็นการฝึกวิ่งช้าอย่างต่อเนื่อง
เราก็จำเป็นต้องกำหนดการเต้นของชีพจร
อยู่ในระดับ 130 – 160 ครั้ง
จึงจะมีผลในการปฏิบัติ

หรือถ้าจะสร้างแบบฝึกขึ้นมา
ก็ต้องกำหนดความหนัก
โดยใช้อัตราการเต้นของชีพจรเป็นพื้นฐาน

แต่ก็ต้องเรียนให้ทราบก่อนว่าอาจจะไม่เหมือนกันทุกราย
ความหนักต่ำ ชีพจรควรอยู่ที่ 120 – 150 ครั้งต่อนาที
ความหนักปานกลาง 150 – 170 ครั้งต่อนาที
ความหนักสูง 170 185 ครั้งต่อนาที
ความหนักสูงสุด ตั้งแต 185 ครั้งต่อนาทีขึ้นไป
ตามพื้นฐานความสามารถของนักวิ่งที่มีอยู่

ข้อกำหนดดังกล่าว
ก็จะถูกนำมาวางเป็น

ระยะทางการวิ่ง
วิธีการหรือรูปแบบกิจกรรมอื่นมาประยุกต์และสร้างเสริม
เวลาที่ใช้วิ่งหรือทำกิจกรรมอื่น
จำนวนเที่ยวที่จะต้องวิ่ง
ระดับและระยะของการฟื้นสภาพ
การพักอย่างสมบูรณ์

รวมออกมาเป็นแผนและการประเมินการซ้อมของนักวิ่งคนหนึ่ง
ขอบคุณครับ

การวัดอัตราการเต้นของชีพจรสำหรับนักวิ่ง
สามารถบ่งบอกสมรรถนะของนักวิ่งและ
ใช้ในการประเมินความสมบูรณ์
เพื่อปรับกิจกรรมให้เหมาะสม
เพราะฉะนั้น จะซ้อมหรือไม่ซ้อม
อัตราการเต้นของชีพจรก็จะเป็นตัวแสดงให้เห็นว่า
สมรรถนะเพิ่มขึ้นหรือลดลงครับ

0
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณได้นะครับx
PATRUNNING.COM
Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.